แอลพีจีเอ กลับมาเลเซียในรอบ 6 ปี จัดเมย์แบงค์ แชมเปียนชิพชิง 102 ล้าน
แอลพีจีเอ ประกาศจัดการแข่งขันในประเทศมาเลเซียอีกครั้ง ในรอบ 6 ปี การแข่งขัน ในรายการเมย์แบงค์ แชมเปียนชิพ ที่กัวลาลัมเปอร์ กอล์ฟ แอนด์ คันทรี คลับ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ปลายเดือนตุลาคม นี้ นักกอล์ฟเข้าร่วมแข่งขัน 78 คน แบบไม่ตัดตัว ชิงเงินรางวัลรวม 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 102 ล้านบาท มากที่สุดในรายการที่ไม่ใช่รายการเมเจอร์แอลพีจีเอ ทัวร์ ปี 2023
แอลพีจีเอ และเมย์แบงค์ หนึ่งในธนาคารชั้นนำของเอเชีย และใหญ่อันดับ 4 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ประกาศจัดการแข่งขันกอล์ฟอาชีพสตรีในประเทศมาเลเซีย รายการ “เมย์แบงค์ แชมเปียนชิพ” ที่สนาม กัวลาลัมเปอร์ กอล์ฟ แอนด์ คันทรี คลับ,เวสต์ คอร์ส กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2566 ชิงเงินรางวัลรวม 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 102 ล้านบาท นับเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่มีเงินรางวัลมากที่สุดที่ไม่ใช่รายการเมเจอร์ ในโปรแกรมแอลพีจีเอ ทัวร์ ปี 2023
การแข่งรายการนี้ จะแข่งขันแบบสโตรกเพลย์ 72 หลุม แบบไม่มีการตัดตัว นักกอล์ฟเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 78 คน นับเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ที่แอลพีจีเอ ทัวร์ จัดการแข่งขันในประเทศมาเลเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้จัดการแข่งขันรายการไซม์ดาร์บี แอลพีจีเอ มาเลเซีย ช่วงปี 2010-2017 ที่สนามเดียวกันนี้
ถ้วยรางวัลเมย์แบงค์ แชมเปียนชิพ |
สำหรับนักกอล์ฟที่เคยไปคว้าแชมป์แอลพีจีเอในประเทศมาเลเซีย ที่ผ่านมา ได้แก่ คัง จีมิน (เกาหลีใต้) ปี 2010 ชเว นา-ยอน (เกาหลีใต้) ปี 2011 พัค อินบี (เกาหลีใต้) ปี 2012 เล็กซี ธอมพ์สัน (สหรัฐ) ปี 2013 ฝง ซานซาน (จีน) ปี 2014 และ 2016 เจสซิกา คอร์ดา (สหรัฐ) ปี 2015 และ คริสตี เคอร์ (สหรัฐ) ปี 2017 ส่วนนักกอล์ฟไทยสถิติดีที่สุดคือ พรอนงค์ เพชรล้ำ คว้าอันดับ 2 เมื่อปี 2014
มอลลี มาร์คูซ์ ซามาน์ |
มอลลี มาร์คูซ์ ซามาน์ ประธานบริหารแอลพีจีเอ ทัวร์ เผยว่า "แอลพีจีเอ ตื่นเต้นที่จะนำเอากอล์ฟอาชีพสตรีกลับไปแข่งขันที่มาเลเซียอีกครั้งในรอบ 6 ปี ต้องขอขอบคุณเมย์แบงค์ ที่ให้การสนับสนุน โดยที่แอลพีจีเอ และ เมย์แบงค์ ได้ร่วมกันยกระดับการแข่งขันของสตรีในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้เมย์แบงค์ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ให้ความสำคัญต่อสตรี และนักกีฬาของเรา ด้วยเงินรางวัลรวมมากที่สุดในรายการในเอเชีย"
ดาโต๊ะ ไครุสซาเลห์ รามลี ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเมย์แบงค์ กล่าวว่า "หลายปีที่ผ่านมารายการเมย์แบงค์ แชมเปียนชิพ ประสบความสำเร็จอย่างมากในการยกระดับอาเซียนสู่เวทีโลกในเชิงกีฬา ปัจจุบันเราได้มองถึงการวิวัฒนาการของการแข่งขันให้เป็นกีฬาของภูมิภาคนี้ การที่แอลพีจีเอได้ร่วมมือกับเรา และเราภูมิใจที่ได้ยืนอยู่เคียงข้างกับองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ที่ช่วยให้เกมกอล์ฟหญิงเติบโต และแสดงถึงความเท่าเทียมกันในเรื่องโอกาสของเด็กผู้หญิง และสตรีทุกวัย"
เคลลี ตัน นักอล์ฟสาวมาเลเซีย ที่เล่นในแอลพีจีเอ |
ด้าน เคลลี ตัน นักกอล์ฟสาวหนึ่งเดียวจากมาเลเซียที่เป็นสมาชิกแอลพีจีเอ ทัวร์ ในปัจจุบัน และยังเป็นบอร์ดบริหารตัวแทนผู้เล่นแอลพีจีเอ ทัวร์ กล่าวว่า "ในฐานะนักกอล์ฟ มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศมาเลเซียไปแข่งขันทั่วโลก ฉันยิ่งตื่นเต้นที่แอลพีจีเอ ทัวร์ จะกลับไปแข่งขันที่กัวลาลัมเปอร์อีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ และฉันเชื่อว่าเมย์แบงค์ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรกับแอลพีจีเอ ทำให้เพิ่มโอกาสในการประชาสัมพันธ์ และพัฒนาเกมกอล์ฟในมาเลเซียมากยิ่งขึ้น และฉันรู้สึกตื่นเต้นกับแฟนกอล์ฟในประเทศของฉันที่จะมีโอกาสได้ชมการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมของนักกอล์ฟอาชีพหญิงที่ดีที่สุดในโลกอย่างใกล้ชิด"
สำหรับสนามกัวลาลัมเปอร์ กอล์ฟ แอนด์ คันทรี คลับ เคยจัดการแข่งขันกอล์ฟอาชีพระดับนานาชาติมาแล้วหลายรายการรวมทั้งซีไอเอ็มบี คลาสสิก รายการร่วมของเอเชียน ทัวร์ และ พีจีเอ ทัวร์ ช่วงปี 2013-2018 โดยแข่งขันที่เวสต์ คอร์ส และยังมีรายการเมย์แบงค์ มาเลเซียน โอเพ่น รายการร่วมของเอเชียน ทัวร์ และ ยูโรเปียน ทัวร์ (ปัจจุบันคือดีพี เวิลด์ ทัวร์) ช่วงปี 2010-2015
จากกรณีแอลพีจีเอ ทัวร์ กลับไปแข่งขันที่ประเทศมาเลเซีย อีกครั้งทำให้ในอาเซียน จะมีรายการแอลพีจีเอ 3 รายการในปีนี้ ได้แก่ รายการฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ ที่ประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และ เอชเอสบีซี วีเมนส์ เวิลด์ แชมเปียนชิพ ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อต้นเดือนมีนาคม และ เมย์แบงค์ แชมเปียนชิพ ที่จะจัดการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้
Comments
Post a Comment